วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กฎหมายอาญา 1


                 กฎหมายอาญา 1 : ภาคบทบัญญัติทั่วไป
            เรื่องความรับผิดอาญา และการพยายามกระทำความผิด มีหัวข้อที่ควรให้ความสนใจดังนี้
           1. องค์ประกอบภายนอก ประกอบไปด้วยผู้กระทำ การกระทำ และวัตถุแห่งการกระทำ ให้ดูถึงพฤติการณ์ประกอบการกระทำด้วย
ถ้าการกระทำไม่ครบองค์ประกอบภายนอก ไม่มีความรับผิดทางอาญา (เปรียบเทียบกับการพยายามกระทำความผิดตามมาตรา 81)
ดูเรื่องการกระทำความผิดโดยอ้อม (Innocent agent) ด้วย ซึ่งต้องแยกจากการเป็นผู้ถูกใช้ให้กระทำความผิด ตามมาตรา 84
           2. เจตนา ตามมาตรา 59 วรรค 3 และมาตรา 59 วรรค 2 ได้แก่ เจตนาประสงค์ต่อผล และเจตนาเล็งเห็นผล(การพิจารณาเรื่องเจตนาให้พิจารณาตามวรรค 3 ก่อนวรรค 2)
เรื่องเจตนาโดยพลาด (เจตนาโอน) ตามมาตรา 60 ต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น ไม่มีการประมาทโอน
ความสำคัญผิดในตัวบุคคล จะถือว่าไม่มีเจตนาไม่ได้ ตามมาตรา 61 (ไม่มีเจตนาโดยสำคัญผิด เนื่องจากมาตราที่บัญญัติเรื่องเจตนามีเฉพาะมาตรา 59 และมาตรา 60 เท่านั้น)
ความสำคัญผิดในข้อเท็จจริง โดยผู้กระทำเชื่อว่าข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่จริง และถ้ามีข้อเท็จจริงนั้นจะเป็นการยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ หรือลดโทษ ก็ให้ผู้กระทำได้รับยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ หรือลดโทษ แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 62 วรรค 1 แต่ถ้าความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเกิดจากความประมาทตามมาตรา 59 วรรค 4 ก็ต้องได้รับโทษสำหรับการประมาทนั้นด้วย ตามมาตรา 62 วรรค 2 นอกจากนี้ผู้กระทำความผิดที่ต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด ผู้กระทำต้องรู้ถึงข้อเท็จจริงนั้น ตามมาตรา 62 วรรค 3 (เหตุฉกรรจ์)
             3. ประมาท ตามมาตรา 59 วรรค 4 เป็นการกระทำซึ่งมิใช่การกระทำโดยเจตนา แต่เป็นการกระทำที่บุคคลในภาวะเช่นนั้น จักต้องมีความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ โดยผู้กระทำสามารถใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
             4. การพยายามกระทำความผิด ตามมาตรา 80-82
มาตรา 80 เป็นหลักทั่วไปของการพยายามกระทำความผิด ผู้กระทำต้องมีเจตนา และกระทำความผิดถึงขั้นลงมือกระทำ การกระทำโดยประมาทไม่สามารถมีการพยายามกระทำความผิดได้
มาตรา 81 เป็นเรื่องการพยายามกระทำความผิดที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุแห่งปัจจัยที่ใช้ในการกระทำ หรือเพราะเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ เป็นมาตราที่ต่อเนื่องมาจากมาตรา 80 (เปรียบเทียบกับมาตรา 59 วรรค 3)
มาตรา 82 เป็นเรื่องการพยายามกระทำความผิดโดยการยับยั้งเสียเอง หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล
ให้ดูด้วยว่าความผิดใดที่มีการพยายามกระทำความผิดได้ ความผิดใดที่มีการกระทำความผิดไม่ได้

              กลุ่มที่ นี้ควรให้ความสนใจ ดังนี้
             1. เหตุยกเว้นความผิด
       1) ความยินยอม ต้องเป็นความยินยอมที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน + ต้องเป็นความยินยอมที่ได้ให้ต่อผู้กระทำก่อนหรือขณะกระทำความผิด + ต้องเป็นความยินยอมโดยสมัครใจ
       2) การกระทำโดยป้องกันสิทธิ มาตรา 68 (เปรียบเทียบกับการกระทำโดยจำเป็น ตามมาตรา 67) ดูฎีกามากๆ
ป้องกันซ้อนป้องกันไม่ได้
       3) จารีตประเพณีให้อำนาจกระทำได้ ต้องเป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมานาน + มีความเชื่อมั่นว่าจารีตประเพณีนั้นเป็นกฎหมาย + ต้องปฏิบัติกันมาโดยสม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง + ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายลายลักษณ์อักษร
              2. เหตุยกเว้นโทษ
       1) การกระทำโดยจำเป็น ตามมาตรา 67 มี 2 อนุมาตรา (เปรียบเทียบกับมาตรา 68 เพราะคล้ายคลึงกันมาก) ผลของมาตรา 67 ผู้กระทำยังคงมีความผิดอยู่ แต่ได้รับการยกเว้นโทษ แต่ผลตามมาตรา 68 คือผู้กระทำไม่มีความผิด
       2) การกระทำความผิดในขณะไม่รู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะเหตุมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ตามมาตรา 65 วรรค 1
      3) การกระทำความผิดระหว่างมึนเมา ตามมาตรา 66 วรรค 1
      4) การกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน แม้คำสั่งนั้นจะมิขอบด้วยกฎหมาย ถ้าผู้กระทำมีหน้าที่หรือเชื่อโดยสุจริตใจว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ถือเป็นเหตุยกเว้นโทษ ตามมาตรา 70
     5) การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางฐานความผิดที่สามีกระทำต่อภริยา หรือภริยากระทำต่อสามี ตามมาตรา 71 วรรค 1
    6) เด็กอายุไม่เกิน 7 ปี กระทำความผิด ตามมาตรา 73
    7) เด็กอายุ 7 – 14 ปีกระทำความผิด ตามมาตรา 74

                   กลุ่มที่ ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด
             1. ตัวการ มาตรา 83 มีองค์ประกอบคือ ต้องมีการกระทำร่วมกัน + มีเจตนาร่วมกัน
            2. ผู้ใช้ ตามมาตรา 84 มี 2 กรณีคือ ผู้ใช้ให้กระทำความผิดในกรณีที่ความผิดนั้นได้มีการกระทำ และผู้ใช้ให้กระทำความผิดในกรณีที่ความผิดนั้นมิได้กระทำลง ซึ่งรับโทษ 1 ใน 3 ของความผิดสำเร็จ ให้เปรียบเทียบกับการกระทำความผิดโดยอ้อม (Innocent agent) ด้วย
           3. ผู้ใช้โดยการโฆษณาหรือประกาศ ตามมาตรา 85 (ต้องเป็นความผิดที่มีโทษขั้นสูงไม่ต่ำกว่า 6 เดือน)
          4. ผู้สนับสนุน มาตรา 86 มีองค์ประกอบคือ ต้องมีการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิด (ไม่รวมหลังการกระทำความผิด) + ต้องมีเจตนาที่จะช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด ถ้าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกหลังการกระทำความผิด ไม่เข้ามาตรา 86
ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนต้องมีการกระทำความผิดอย่างน้อยถึงขั้นพยายามกระทำ ความผิด (หรือการตระเตรียมกระทำความผิด สำหรับความผิดที่มีกฎหมายบัญญัติว่า การตระเตรียมกระทำความผิดเป็นความผิด) ผู้สนับสนุนจึงจะมีความผิดและต้องรับโทษตามมาตรา 86
การกระทำความผิดตามมาตรา 83-86 นั้น ต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น การกระทำโดยประมาทไม่สามารถมีการช่วยเหลือในการกระทำความผิดได้
อย่าลืมดูฎีกาในเอกสารการสอนมากๆ โดยเฉพาะการแยกระหว่างตัวการ และผู้สนับสนุน

                 ข้อแนะนำในการศึกษาและตอบข้อสอบอัตนัย กฎหมายอาญา 1
            1.ตัวบทกฎหมายอาญา 1 ถือว่ามีจำนวนน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาอื่นๆ ในสาขานิติศาสตร์ ดังนั้นจึงควรจำตัวบทได้
            2. ควรยกตัวบทขึ้นก่อน และต้องมีการอธิบายตัวบทด้วยเสมอ และในวิชานี้อาจมีการให้ตอบปัญหาวินิจฉัยโดยการอธิบายทฤษฎี เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล กฎหมายจารีตประเพณีที่เป็นการยกเว้นความผิด ความยินยอมอันเป็นเหตุของการยกเว้นความผิด ก็ต้องสามารถอธิบายหลักดังกล่าวได้ด้วย
          3. มาตราที่เกี่ยวกับฐานความผิดต่างๆ เช่น การฆ่าคนตายโดยเจตนา การฆ่าคนตายโดยประมาท ไม่จำเป็นต้องยกไปอ้าง เพราะเป็นอยู่ในเนื้อหาภาคความผิดของกฎหมายอาญา 2
          4. อย่าลืมดูคำพิพากษาศาลฎีกาโดยทุกๆเรื่อง เพราะสามารถนำมาสร้างเป็นข้อสอบได้เสมอ
          5. วิชากฎหมายอาญา 1 ยังไม่ใช่วิชาที่ยากของสาขานิติศาสตร์ ถ้าสามารถศึกษาจนเข้าใจ และสามารถอ้างตัวบทได้ ก็จะสอบผ่านได้โดยง่าย ขอให้โชคดีครับ


ภาค ๓ ลหุโทษ

มาตรา ๓๖๗ ผู้ใดเมื่อเจ้าพนักงานถามชื่อหรือที่อยู่ เพื่อปฏิบัติการตามกฎหมาย
ไม่ยอมบอก หรือแกล้งบอกชื่อหรือที่อยู่อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท

มาตรา ๓๖๘ ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมาย
ให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบ
วัน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการสั่งเช่นว่านั้น เป็นคำสั่งให้ช่วยทำกิจการในหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่ง
กฎหมายกำหนดให้สั่งให้ช่วยได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพัน
บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๖๙ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ให้ประกาศ ภาพโฆษณา หรือเอกสาร
ใดที่เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ปิดหรือแสดงไว้ หรือสั่งให้ปิด หรือแสดงไว้ หลุดฉีกหรือ
ไร้ประโยชน์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
มาตรา ๓๗๐ ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึง โดยไม่มีเหตุ
อันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท

มาตรา ๓๗๑ ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณ โดยเปิดเผยหรือ
โดยไม่มีเหตุสมควร หรือพาไปในชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริงหรือการอื่นใด
ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาทและให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบอาวุธนั้น

มาตรา ๓๗๒ ผู้ใดทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณหรือสาธารณสถาน หรือ
กระทำโดยประการอื่นใดให้เสียความสงบเรียบร้อยในทางสาธารณหรือสาธารณสถาน ต้องระวาง
โทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา ๓๗๓ ผู้ใดควบคุมดูแลบุคคลวิกลจริต ปล่อยปละละเลยให้บุคคล
วิกลจริตนั้นออกเที่ยวไปโดยลำพัง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา ๓๗๔ ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่
ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่ง
เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๗๕ ผู้ใดทำให้รางระบายน้ำ ร่องน้ำหรือท่อระบายของโสโครก อันเป็น
สิ่งสาธารณเกิดขัดข้องหรือไม่สะดวก ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา ๓๗๖ ผู้ใดยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุม
ชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๗๗ ผู้ใดควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยว
ไปโดยลำพัง ในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่ง
เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๗๘ ผู้ใดเสพย์สุราหรือของเมาอย่างอื่น จนเป็นเหตุให้ตนเมา
ประพฤติวุ่นวายหรือครองสติไม่ได้ขณะอยู่ในถนนสาธารณ หรือสาธารณสถาน ต้องระวางโทษ
ปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
มาตรา ๓๗๙ ผู้ใดชักหรือแสดงอาวุธในการวิวาทต่อสู้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่
เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๘๐ ผู้ใดทำให้เกิดปฏิกูลแก่น้ำในบ่อ สระ หรือที่ขังน้ำอันมีไว้สำหรับ
ประชาชนใช้สอย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้ง
ปรับ
มาตรา ๓๘๑ ผู้ใดกระทำการทารุณต่อสัตว์ หรือฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนา
อันไม่จำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๘๒ ผู้ใดใช้ให้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควร
เพราะเหตุที่สัตว์นั้นป่วยเจ็บ ชราหรืออ่อนอายุ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่
เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๘๓ ผู้ใดเมื่อเกิดเพลิงไหม้หรือสาธารณภัยอื่น และเจ้าพนักงานเรียก
ให้ช่วยระงับ ถ้าผู้นั้นสามารถช่วยได้แต่ไม่ช่วย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่
เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๘๔ ผู้ใดแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่น
ตกใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๘๕ ผู้ใดโดยไม่ได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมายกีดขวางทางสาธารณ
จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวาง หรือทอดทิ้งสิ่งของ
หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด ถ้าการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยไม่จำเป็น ต้องระวางโทษ
ปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา ๓๘๖ ผู้ใดขุดหลุมหรือราง หรือปลูกปักหรือวางสิ่งของเกะกะไว้ในทาง
สาธารณ โดยไม่ได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมาย หรือทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ละเลยไม่
แสดงสัญญาณตามสมควร เพื่อป้องกันอุปัทวเหตุ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
มาตรา ๓๘๗ ผู้ใดแขวน ติดตั้งหรือวางสิ่งใดไว้โดยประการที่น่าจะตกหรือพังลง
ซึ่งจะเป็นเหตุอันตราย เปรอะเปื้อนหรือเดือดร้อนแก่ผู้สัญจรในทางสาธารณ ต้องระวางโทษปรับ
ไม่เกินห้าร้อยบาท
มาตรา ๓๘๘ ผู้ใดกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปลือยหรือ
เปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
มาตรา ๓๘๙ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ให้ของแข็งตกลง ณ ที่ใดๆ โดย
ประการที่น่าจะเป็นอันตรายหรือเดือดร้อนรำคาญแก่บุคคลหรือเป็นอันตรายแก่ทรัพย์ หรือ
กระทำด้วยประการใดๆ ให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนหรือน่าจะเปรอะเปื้อน ตัวบุคคล หรือทรัพย์
หรือแกล้งทำให้ของโสโครกเป็นที่เดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือ
ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๙๐ ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับ
อันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือ
ทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๙๑ ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่
กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๙๒ ผู้ใดทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญ ต้อง
ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๙๓ ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษ
จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๙๔ ผู้ใดไล่ ต้อน หรือทำให้สัตว์ใดๆ เข้าในสวน ไร่ หรือนาของผู้อื่นที่
ได้แต่งดินไว้ เพาะพันธุ์ไว้ หรือมีพืชพันธุ์หรือผลิตผลอยู่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน
หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๙๕ ผู้ใดควบคุมสัตว์ใดๆ ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเข้าในสวน ไร่
หรือนาของผู้อื่นที่ได้แต่งดินไว้ เพาะพันธุ์ไว้ หรือมีพืชพันธุ์หรือผลิตผลอยู่ ต้องระวางโทษปรับไม่
เกินห้าร้อยบาท

มาตรา ๓๙๖ ผู้ใดทิ้งซากสัตว์ซึ่งอาจเน่าเหม็น ในหรือริมทางสาธารณะ ต้อง
ระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
มาตรา ๓๙๗ ผู้ใดในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล กระทำด้วยประการ
ใดๆ อันเป็นการรังแกหรือข่มเหงผู้อื่น หรือกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอายหรือเดือดร้อน
รำคาญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๙๘ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทารุณต่อเด็กอายุยังไม่
เกินสิบห้าปี คนป่วยเจ็บหรือคนชรา ซึ่งต้องพึ่งผู้นั้นในการดำรงชีพหรือการอื่นใด ต้องระวางโทษ
จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หมวด ๘ ความผิดฐานบุกรุก

มาตรา ๓๖๒ ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครอง
อสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการ
ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่
เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๖๓ ผู้ใดเพื่อถือเอาอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนหรือของ
บุคคลที่สาม ยักย้ายหรือทำลายเครื่องหมายเขตแห่งอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๖๔ ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เข้าไปหรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน
อาคารเก็บรักษาทรัพย์หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่
เช่นว่านั้นเมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับ
ไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๖๕ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๖๒ มาตรา ๓๖๓ หรือมาตรา
๓๖๔ ได้กระทำ
(๑) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
(๒) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ
(๓) ในเวลากลางคืน
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้ง
จำทั้งปรับ

มาตรา ๓๖๖ ความผิดในหมวดนี้ นอกจากความผิดตามมาตรา ๓๖๕ เป็น
ความผิดอันยอมความได้

หมวด ๗ ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

มาตรา ๓๕๘ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่ง
ทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้อง
ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๕๙ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๕๘ ได้กระทำต่อ
(๑) เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกสิกรมหรืออุตสาหกรรม
(๒) ปศุสัตว์
(๓) ยวดยานหรือสัตว์พาหนะที่ใช้ในการขนส่งสาธารณหรือในการประกอบ
กสิกรรมหรืออุตสาหกรรม หรือ
(๔) พืชหรือพืชผลของกสิกร
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้ง
จำทั้งปรับ

มาตรา ๓๖๐ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่ง
ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่ง
หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๖๐ ทวิ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้
ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ ทวิ วรรคหนึ่ง ที่ประดิษฐานอยู่ในสถานที่ตามมาตรา ๓๓๕
ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

าตรา ๓๖๑ ความผิดตามมาตรา ๓๕๘ และมาตรา ๓๕๙ เป็นความผิดอันยอม
ความได้

หมวด ๖ ความผิดฐานรับของโจร

มาตรา ๓๕๗ ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือ
รับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์
วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอก
ทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่ง
หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไรหรือได้กระทำต่อ
ทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ (๑๐) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้อง
ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงสองหมื่นบาท
ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลัก
ทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ ทวิ การชิงทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๙ ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ตามมาตรา
๓๔๐ ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสาม
หมื่นบาท

หมวด ๕ ความผิดฐานยักยอก

มาตรา ๓๕๒ ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของ
รวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิด
ฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่ง
มอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้
ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

มาตรา ๓๕๓ ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่ง
ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้
เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสาม
ปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๕๔ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๕๒ หรือมาตรา ๓๕๓ ได้
กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งของศาล หรือตาม
พินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้อง
ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๕๕ ผู้ใดเก็บได้ซึ่งสังหาริมทรัพย์อันมีค่า อันซ่อนหรือฝังไว้โดย
พฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่น
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๕๖ ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

หมวด ๔ ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

มาตรา ๓๔๙ ผู้ใดเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้
ประโยชน์ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ ต้อง
ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๕๐ ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือ
แต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไป
ให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษ
จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๕๑ ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้