วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กฎหมายอาญา 1


                 กฎหมายอาญา 1 : ภาคบทบัญญัติทั่วไป
            เรื่องความรับผิดอาญา และการพยายามกระทำความผิด มีหัวข้อที่ควรให้ความสนใจดังนี้
           1. องค์ประกอบภายนอก ประกอบไปด้วยผู้กระทำ การกระทำ และวัตถุแห่งการกระทำ ให้ดูถึงพฤติการณ์ประกอบการกระทำด้วย
ถ้าการกระทำไม่ครบองค์ประกอบภายนอก ไม่มีความรับผิดทางอาญา (เปรียบเทียบกับการพยายามกระทำความผิดตามมาตรา 81)
ดูเรื่องการกระทำความผิดโดยอ้อม (Innocent agent) ด้วย ซึ่งต้องแยกจากการเป็นผู้ถูกใช้ให้กระทำความผิด ตามมาตรา 84
           2. เจตนา ตามมาตรา 59 วรรค 3 และมาตรา 59 วรรค 2 ได้แก่ เจตนาประสงค์ต่อผล และเจตนาเล็งเห็นผล(การพิจารณาเรื่องเจตนาให้พิจารณาตามวรรค 3 ก่อนวรรค 2)
เรื่องเจตนาโดยพลาด (เจตนาโอน) ตามมาตรา 60 ต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น ไม่มีการประมาทโอน
ความสำคัญผิดในตัวบุคคล จะถือว่าไม่มีเจตนาไม่ได้ ตามมาตรา 61 (ไม่มีเจตนาโดยสำคัญผิด เนื่องจากมาตราที่บัญญัติเรื่องเจตนามีเฉพาะมาตรา 59 และมาตรา 60 เท่านั้น)
ความสำคัญผิดในข้อเท็จจริง โดยผู้กระทำเชื่อว่าข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่จริง และถ้ามีข้อเท็จจริงนั้นจะเป็นการยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ หรือลดโทษ ก็ให้ผู้กระทำได้รับยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ หรือลดโทษ แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 62 วรรค 1 แต่ถ้าความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเกิดจากความประมาทตามมาตรา 59 วรรค 4 ก็ต้องได้รับโทษสำหรับการประมาทนั้นด้วย ตามมาตรา 62 วรรค 2 นอกจากนี้ผู้กระทำความผิดที่ต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด ผู้กระทำต้องรู้ถึงข้อเท็จจริงนั้น ตามมาตรา 62 วรรค 3 (เหตุฉกรรจ์)
             3. ประมาท ตามมาตรา 59 วรรค 4 เป็นการกระทำซึ่งมิใช่การกระทำโดยเจตนา แต่เป็นการกระทำที่บุคคลในภาวะเช่นนั้น จักต้องมีความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ โดยผู้กระทำสามารถใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
             4. การพยายามกระทำความผิด ตามมาตรา 80-82
มาตรา 80 เป็นหลักทั่วไปของการพยายามกระทำความผิด ผู้กระทำต้องมีเจตนา และกระทำความผิดถึงขั้นลงมือกระทำ การกระทำโดยประมาทไม่สามารถมีการพยายามกระทำความผิดได้
มาตรา 81 เป็นเรื่องการพยายามกระทำความผิดที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุแห่งปัจจัยที่ใช้ในการกระทำ หรือเพราะเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ เป็นมาตราที่ต่อเนื่องมาจากมาตรา 80 (เปรียบเทียบกับมาตรา 59 วรรค 3)
มาตรา 82 เป็นเรื่องการพยายามกระทำความผิดโดยการยับยั้งเสียเอง หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล
ให้ดูด้วยว่าความผิดใดที่มีการพยายามกระทำความผิดได้ ความผิดใดที่มีการกระทำความผิดไม่ได้

              กลุ่มที่ นี้ควรให้ความสนใจ ดังนี้
             1. เหตุยกเว้นความผิด
       1) ความยินยอม ต้องเป็นความยินยอมที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน + ต้องเป็นความยินยอมที่ได้ให้ต่อผู้กระทำก่อนหรือขณะกระทำความผิด + ต้องเป็นความยินยอมโดยสมัครใจ
       2) การกระทำโดยป้องกันสิทธิ มาตรา 68 (เปรียบเทียบกับการกระทำโดยจำเป็น ตามมาตรา 67) ดูฎีกามากๆ
ป้องกันซ้อนป้องกันไม่ได้
       3) จารีตประเพณีให้อำนาจกระทำได้ ต้องเป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมานาน + มีความเชื่อมั่นว่าจารีตประเพณีนั้นเป็นกฎหมาย + ต้องปฏิบัติกันมาโดยสม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง + ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายลายลักษณ์อักษร
              2. เหตุยกเว้นโทษ
       1) การกระทำโดยจำเป็น ตามมาตรา 67 มี 2 อนุมาตรา (เปรียบเทียบกับมาตรา 68 เพราะคล้ายคลึงกันมาก) ผลของมาตรา 67 ผู้กระทำยังคงมีความผิดอยู่ แต่ได้รับการยกเว้นโทษ แต่ผลตามมาตรา 68 คือผู้กระทำไม่มีความผิด
       2) การกระทำความผิดในขณะไม่รู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะเหตุมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ตามมาตรา 65 วรรค 1
      3) การกระทำความผิดระหว่างมึนเมา ตามมาตรา 66 วรรค 1
      4) การกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน แม้คำสั่งนั้นจะมิขอบด้วยกฎหมาย ถ้าผู้กระทำมีหน้าที่หรือเชื่อโดยสุจริตใจว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ถือเป็นเหตุยกเว้นโทษ ตามมาตรา 70
     5) การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางฐานความผิดที่สามีกระทำต่อภริยา หรือภริยากระทำต่อสามี ตามมาตรา 71 วรรค 1
    6) เด็กอายุไม่เกิน 7 ปี กระทำความผิด ตามมาตรา 73
    7) เด็กอายุ 7 – 14 ปีกระทำความผิด ตามมาตรา 74

                   กลุ่มที่ ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด
             1. ตัวการ มาตรา 83 มีองค์ประกอบคือ ต้องมีการกระทำร่วมกัน + มีเจตนาร่วมกัน
            2. ผู้ใช้ ตามมาตรา 84 มี 2 กรณีคือ ผู้ใช้ให้กระทำความผิดในกรณีที่ความผิดนั้นได้มีการกระทำ และผู้ใช้ให้กระทำความผิดในกรณีที่ความผิดนั้นมิได้กระทำลง ซึ่งรับโทษ 1 ใน 3 ของความผิดสำเร็จ ให้เปรียบเทียบกับการกระทำความผิดโดยอ้อม (Innocent agent) ด้วย
           3. ผู้ใช้โดยการโฆษณาหรือประกาศ ตามมาตรา 85 (ต้องเป็นความผิดที่มีโทษขั้นสูงไม่ต่ำกว่า 6 เดือน)
          4. ผู้สนับสนุน มาตรา 86 มีองค์ประกอบคือ ต้องมีการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิด (ไม่รวมหลังการกระทำความผิด) + ต้องมีเจตนาที่จะช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด ถ้าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกหลังการกระทำความผิด ไม่เข้ามาตรา 86
ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนต้องมีการกระทำความผิดอย่างน้อยถึงขั้นพยายามกระทำ ความผิด (หรือการตระเตรียมกระทำความผิด สำหรับความผิดที่มีกฎหมายบัญญัติว่า การตระเตรียมกระทำความผิดเป็นความผิด) ผู้สนับสนุนจึงจะมีความผิดและต้องรับโทษตามมาตรา 86
การกระทำความผิดตามมาตรา 83-86 นั้น ต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น การกระทำโดยประมาทไม่สามารถมีการช่วยเหลือในการกระทำความผิดได้
อย่าลืมดูฎีกาในเอกสารการสอนมากๆ โดยเฉพาะการแยกระหว่างตัวการ และผู้สนับสนุน

                 ข้อแนะนำในการศึกษาและตอบข้อสอบอัตนัย กฎหมายอาญา 1
            1.ตัวบทกฎหมายอาญา 1 ถือว่ามีจำนวนน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาอื่นๆ ในสาขานิติศาสตร์ ดังนั้นจึงควรจำตัวบทได้
            2. ควรยกตัวบทขึ้นก่อน และต้องมีการอธิบายตัวบทด้วยเสมอ และในวิชานี้อาจมีการให้ตอบปัญหาวินิจฉัยโดยการอธิบายทฤษฎี เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล กฎหมายจารีตประเพณีที่เป็นการยกเว้นความผิด ความยินยอมอันเป็นเหตุของการยกเว้นความผิด ก็ต้องสามารถอธิบายหลักดังกล่าวได้ด้วย
          3. มาตราที่เกี่ยวกับฐานความผิดต่างๆ เช่น การฆ่าคนตายโดยเจตนา การฆ่าคนตายโดยประมาท ไม่จำเป็นต้องยกไปอ้าง เพราะเป็นอยู่ในเนื้อหาภาคความผิดของกฎหมายอาญา 2
          4. อย่าลืมดูคำพิพากษาศาลฎีกาโดยทุกๆเรื่อง เพราะสามารถนำมาสร้างเป็นข้อสอบได้เสมอ
          5. วิชากฎหมายอาญา 1 ยังไม่ใช่วิชาที่ยากของสาขานิติศาสตร์ ถ้าสามารถศึกษาจนเข้าใจ และสามารถอ้างตัวบทได้ ก็จะสอบผ่านได้โดยง่าย ขอให้โชคดีครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น